วิธีรับมือกับภาวะเลือดออกผิดปกติต่อเนื่องในผู้หญิง
การเรียนรู้และรับมือกรณีมีเลือดออกผิดปกติต่อเนื่อง
เมื่อมีเลือดออกในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือนเราจะเรียกว่า เลือดออกผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุได้จากการเสียสมดุลของฮอร์โมนหรืออาจเกิดจากโรคเฉพาะของผู้หญิง หากมีเลือดออกผิดปกตินานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปแนะนำให้เข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อาการเลือดออกผิดปกติที่ควรระวัง
เลือดที่ออกผิดปกติของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยจะมีปริมาณตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย
เพียงแค่เลอะชุดชั้นในไปจนถึงมีปริมาณมากเหมือนกับประจำเดือนเลยก็เป็นได้ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องกังวล
อาการเลือดออกผิดปกติที่ต้องเข้ารับการตรวจ คือ กรณีที่มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ
สำหรับการมีเลือดออกผิดปกติก่อนที่จะหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียสมดุลของฮอร์โมนมากกว่าการป่วยเป็นโรค และส่วนมากเป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น แต่หากมีเลือดออกผิดปกติ
ต่อเนื่อง 2-3 ครั้งเป็นต้นไปก็ควรเข้ารับการตรวจโดยเร็ว
การมีเลือดออกผิดปกติในช่วงระยะไข่ตก
สาเหตุส่วนใหญ่ของการมีเลือดออกผิดปกติ คือ การมีเลือดออกช่วงไข่ตก เมื่อช่วงที่มีประจำเดือนสิ้นสุดลงร่างกายของผู้หญิงจะเข้าสู่ช่วงไข่ตก
ซึ่งมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นและอุณหภูมิร่างกายต่ำลง หลังจากไข่ตกจะมีการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว
โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงแต่ฮอร์โมนโปรเจสโตโรนจะเพิ่มขึ้น หลังจากไข่ตก ร่างกายจะเสียความสมดุลของฮอร์โมนไปชั่วขณะ
ทำให้มีเลือดเข้าไปผสมอยู่กับของเหลวที่ออกมาจากปากมดลูกเล็กน้อย นอกจากนี้ เมื่อไข่ตกก็ทำให้รังไข่เป็นแผลและมีเลือดออกได้ด้วยเช่นกัน
เลือดที่ออกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมน เรียกว่า เลือดที่ออกระหว่างรอบเดือน เลือดที่ออกระหว่างรอบเดือนเกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนและหลังวันไข่ตก
โดยรวมแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 2-5 วัน ในการวินิจฉัยว่า เลือดที่ออกผิดปกติเป็นเลือดระหว่างรอบเดือนหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญก็คือ การบันทึกอุณหภูมิของร่างกายทุกวัน
หากมีช่วงที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและมีช่วงที่ร่างกายอุณหภูมิต่ำก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มีการไข่ตก หากรอบเดือนมี 28 วันช่วงที่มีเลือดออกก็จะเป็นช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ครึ่ง
ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งก็จะพอดีกับช่วงที่ไข่ตก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลมาก อย่างไรก็ดีไม่ควรตัดสินด้วยตนเองควรเข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไป
การมีเลือดออกช่วงไข่ตก แต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนก็จะค่อย ๆ มีเลือดออกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ก่อนมีประจำเดือนจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงมีประจำเดือน บางคนก็จะมีเลือดออกในบางครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วอาการของตนเองไม่เหมือนกับคนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องกังวล หากมีเลือดออกมากกว่าตอนที่มีประจำเดือนหรือมีเลือดออกต่อเนื่องการเกิน 1 สัปดาห์ ก็ควรเข้ารับการตรวจที่แผนกสูตินารีแพทย์
หากเกิดเลือดออกผิดปกติต่อเตื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีสาเหตุมาจากการมีติ่งเนื้อ
สาเหตุหนึ่งของการมีเลือดออกผิดปกติ คือ การมีติ่งเนื้อในมดลูกหรือปากมดลูก
ซึ่งพบได้ง่ายในผู้หญิงอายุ 30-50 ปี
นอกจากจะมีอาการเลือดออกผิดปกติแล้ว ยังมีปริมาณตกขาวหรือระดูขาวที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
รวมถึงมีอาการเลือดออกเล็กน้อยหลังจากเล่นกีฬาหรืออุจจาระได้ โดยติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นก้อนเนื้อชนิดดี
หากเกิดบริเวณปากมดลูกก็สามารถผ่าตัดเอาออกได้ง่าย แต่หากเป็นติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นภายในมดลูก
ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออกซึ่งจะใช้วิธีส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy)
มะเร็งมดลูก คือ การที่เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกกลายเป็นมะเร็ง ในระยะแรกของโรค ร้อยละ 90 ของผู้ป่วย
จะมีอาการเลือดออกผิดปกติ มีปริมาณตกขาวหรือระดูขาวเพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หากตรวจพบโรคมะเร็งในระยะแรกก็สามารถรักษาได้
เนื้องอกในมดลูก อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกผิดปกติต่อเนื่องนานๆ
เนื้องอกในมดลูก พบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งโดยจะมีอาการแตกต่างกันออกไปขึ้นกับจำนวนและขนาดของเนื้องอก
• เนื้องอกที่เกิดขึ้นด้านในมดลูก เรียกว่า เนื้องอกใต้เยื่อบุมดลูก มีขนาดเล็กแต่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงและเป็นสาเหตุของการมีเลือดออกผิดปกติ
การมีบุตรยาก การแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนดได้
• เนื้องอกที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อมดลูก เรียกว่า เนื้องอกในชั้นกล้ามเนื้อ หากมีขนาดเล็กมักจะไม่ค่อยมีอาการ แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้มีเลือดออกผิดปกติ
และปริมาณประจำเดือนมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการโลหิตจางได้
• เนื้องอกที่อยู่ด้านนอกมดลูก เรียกว่า เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก ระยะแรกจะไม่ค่อยมีอาการ จนกว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น บางครั้งหากเกิดการบิดตัวจะส่งผลให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงได้
การตรวจหาเนื้องอกในมดลูก สามารถเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลในแผนกสูตินารี โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ และ MRI หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจะมีทั้งวิธีการรักษาด้วยยา
และการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาเนื้องอกในมดลูกได้หายสนิท แต่จะเป็นยาที่ทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงหรือปริมาณเลือดที่ออกน้อยลง
ซึ่งจะเป็นการหยุดการเกิดประจำเดือน ทำให้ระหว่างการรักษาฮอร์โมนเพศหญิงจะมีปริมาณลดลง ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการคล้ายช่วงวัยทองหรือมวลกระดูกลดลงได้
นอกจากนี้ เมื่อหยุดการใช้ยา ก้อนเนื้อก็อาจจะกลับมามีขนาดเท่าเดิม แต่หากปล่อยทิ้งไว้เนื้องอกอาจส่งผลต่ออวัยวะรอบข้าง ส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยและเจ็บขณะปัสสาวะ
หรือปวดเอวได้ ดังนั้นหากมีความสงสัยหรือกังวลควรเข้ารับการตรวจให้แพทย์วินิฉัยว่าจำเป็นต้องรักษาหรือไม่
หากมีอาการเลือดออกผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ภาวะการมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนมักเกิดขึ้นในช่วงไข่ตกซึ่งเกิดได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นเลือดที่ออกจากการที่ฮอร์โมนเสียสมดุล ก็อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
โดยแพทย์จะมีการตรวจสอบด้วยวิธีต่างๆ เช่น คลื่นอัลตราซาวน์ ตรวจเลือด ตรวจเซลล์ของปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง